ทุกวันนี้ เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะจากนี้ต่อไป การใช้งานคอมพิวเตอร์ จะไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ ที่ต้องเก็บไฟล์ทุกอย่างไว้ในเครื่องส่วนตัว แต่จะขยับไปสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “คลาวด์คอมพิวติ้ง” และจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือจากองค์กรต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ
แนวความคิดของคลาวด์คอมพิวติ้ง เป็นการเข้าใช้บริการจากระบบคอมพิวเตอร์ผ่านออนไลน์ โดยที่ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามีทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน หรือมีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ที่ใด และไม่ต้องสนใจเรื่องการจัดการทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที นั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ระบบอีเมล์ฟรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Mail (gmail) หรือ Yahoo Mail เป็นต้น
รวมถึงเครือข่ายทางสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน มีผู้ใช้หลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก อย่าง เฟซบุ๊ก วิกิพีเดีย หรือทวิตเตอร์ ที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย ก็ใช้ระบบคลาวด์มาประมวลผล ทำให้การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นไปด้วยความรวดเร็วทั้งเนื้อหาและภาพ
ระบบดังกล่าว นอกจากจะทำให้การใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็วแล้ว ยังช่วยลดภาระการลงทุนด้านระบบไอที ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรด้วย จะเหลือเพียงฝ่ายไอที ที่เป็นพื้นฐานเท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการให้บริการเท่านั้น
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่กระทรวงเทค-โนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มที่จะนำระบบคลาวด์มาใช้ Government Cloud Service เพื่อเปิดให้หน่วยงานราชการต่างๆมาใช้ระบบคลาวด์ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนเกี่ยวกับไอที ซึ่งสามารถลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐสำหรับการลงทุนด้านไอที ปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการกว่า 10 แห่ง ได้ทดลองการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งแล้ว
การใช้คลาวด์ในภาครัฐนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นที่จะให้ความสำคัญ ขณะที่ภาคเอกชนได้ล้ำหน้าในการใช้งานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา
แม้วันนี้การใช้งานระบบคลาวด์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และประชาชนยังไม่สัมผัสได้ถึงการใช้บริการ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ประชาชนจะรับรู้ถึงบริการภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจะใช้บริการผ่านบริการอี-เซอร์วิส ที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
แหล่งที่มา เว็บไซต์ไทยรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น