วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

สู่ยุค “อัลตร้าบุ๊ก”

การเลือกโน้ตบุ๊กมาใช้งานสักเครื่องคุณจะเลือกที่อะไร สำหรับคอไอทีที่มีความรู้พอสมควร มักเลือกที่สเปกภายในกับราคาเป็นหลัก ในขณะที่อีกกลุ่มอาจมองไปถึงระบบปฏิบัติการเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ซื้อซึ่งไม่มีความรู้เรื่องสเปกเครื่องภายในมากนักจะเน้นไปที่ราคากับรูปลักษณ์ภายนอก

ในความเป็นจริงแล้วการใช้งานโน้ตบุ๊กในปัจจุบันหากเป็นกลุ่มผู้ใช้สำหรับทำงานจริงๆ อย่างเช่น ไฟล์เอกสารงานพิมพ์ เอ็กซ์เซล หรือไฟล์พรีเซนเทชัน อินเทอร์เน็ตเฟซบุ๊ก เช็กอีเมล วิดีโอคอลสำหรับการประชุมบ้าง สเปกเครื่องแรงๆ ราคาแพงๆ แทบไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ หากมองในด้านไลฟ์สไตล์พวกเขาต้องการเครื่องที่มีน้ำหนักเบาแข็งแรง แบตเตอรี่ใช้งานได้อย่างยาวนาน มากกว่า 68 ชั่วโมงขึ้นไป หรือมากพอที่จะทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องพกพาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟไปทำงาน สิ่งเหล่านี้มีแล้วในเครื่องโน้ตบุ๊กที่เรียกว่า อัลตราบุ๊ก

บางและนานกว่า
  1. เครื่องอินเทลอัลตราบุ๊ก เป็นเครื่องโน้ตบุ๊กที่ได้รับการออกแบบและกำหนดความสามารถหลักๆ โดยอินเทล และให้ผู้ผลิตแต่ละเจ้าเป็นผู้ออกแบบรูปลักษณ์ของตัวเครื่อง โดยภายในจะใช้ซีพียูโปรเซสเซอร์ อินเทลคอร์โปรเซสเซอร์เจเนอเรชัน 2 เป็นตัวประมวลผล กำหนดให้ดีไซน์ตัวเครื่องมีความบางไม่เกิน 21 มิลลิเมตร
  2. เพิ่มเทคโนโลยี อินเทล แรปิด สตาร์ต (Intel Rapid Start) ทำให้เครื่องกลับคืนสู่สภาพที่พร้อมใช้งานได้เร็วยิ่งขึ้น และยังทำให้เครื่องบูตโอเอสเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและในอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้นถึง 5–8 ชั่วโมง
  3. สุดท้ายคือ เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย ซึ่งน่าจะได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอัลตราบุ๊กมีความสามารถในการป้องกัน หรืออันที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นการแก้เผ็ดผู้ร้าย โดยใส่ระบบรักษาความปลอดภัยไว้ในตัวอุปกรณ์ระดับฮาร์ดแวร์บนไบออส (Bios/firmware) ซึ่งเป็นหัวใจของระบบฮาร์ดแวร์ในการปิดเปิดเครื่องเพื่อรองรับเทคโนโลยีอินเทล ไอเดนทิตีโปรเทคชัน และอินเทล แอนตีทรีฟ เทคโนโลยี (Intel Identity Protection and Intel Anti-Theft Technology) ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจากเครื่อง ความสามารถนี้เราสามารถสั่งล็อกเครื่องผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตและตั้งค่าการใส่รหัส รวมทั้งแสดงข้อความที่หน้าจอเครื่องได้หากเครื่องถูกโจรกรรมและนำไปใช้งานผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตต่อ
แต่เดิมระบบนี้จะเป็นโปรแกรมใส่ไว้ในฮาร์ดดิสก์ ซึ่งผู้ร้ายสามารถเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ใส่เข้าไปใช้งานแทนได้ แต่ความสามารถใหม่ของอัลตราบุ๊กนี้จะถูกฝังในฮาร์ดแวร์ ทำให้ผู้ร้ายไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยแม้จะเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ใหม่เข้าไปก็ตาม เป็นความสามารถที่น่าสนใจอย่างมาก ถึงโอกาสที่เราจะได้เครื่องคืนมีน้อยก็ยังดีกว่าให้คนร้ายได้ข้อมูลอะไรต่อมิอะไรในเครื่องเราไปใช้ รวมทั้งเปิดใช้งานเครื่องของเราไม่ได้อีกเลย

โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ควรเป็นอัลตราบุ๊ก
นานหลายเดือนแล้วที่เราเฝ้ามองแมคบุ๊กแอร์ ว่าเมื่อไหร่ทางฝั่งเครื่องที่ใช้ระบบวินโดวส์จะได้ใช้งานเครื่องที่บางและเบาอย่างนี้บ้าง สุดท้ายก็ได้ทดสอบเครื่องอัลตราบุ๊ก กันจริงๆ เสียที

จากการทดสอบใช้งานเราพบว่าคะแนนของการประเมินเครื่องของระบบวินโดวส์ให้คะแนนซีพียู สูงถึง 6.9 ส่วนคะแนนกราฟฟิก 3 มิติก็ไม่ใช่น้อยๆ ได้ไป 6 คะแนน ก็นับว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับโน้ตบุ๊กประหยัดพลังงานรุ่นนี้ เพราะคะแนนเต็มของวินโดวส์ที่ให้ในแต่ละส่วนคือ 7.9 คะแนน ดังนั้นใครว่าอัลตราบุ๊กไม่แรงเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ได้เลยครับ เพราะระบบของอัลตราบุ๊กรุ่นใหม่มีความสามารถในการจัดการพลังงานได้อย่างดีเยี่ยม

เราทดสอบด้วยการพิมพ์งานต่อไวไฟ เล่นเฟซบุ๊กเปิดเครื่องไว้ทั้งวัน พิมพ์งานกันทั้งวันครับ ทดสอบแบบขยันขันแข็งเล็กน้อยก็พบว่าเครื่องนี้สามารถยืนพื้นการใช้งานได้ถึง 8 ชั่วโมงอย่างที่ทางอินเทลได้ประกาศเอาไว้ เวลาที่เราไม่ได้ใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องชัตดาวน์เครื่องแต่อย่างใด แค่พับฝาเครื่องเก็บใส่กระเป๋า กลับถึงบ้านเปิดเครื่องมาเคาะปุ่มเอ็นเตอร์ครั้งเดียวเราก็ทำงานที่ค้างไว้ต่อได้เลยโดยที่แบตเตอรี่แทบไม่ลดลง คล้ายๆ กับคนที่ใช้เครื่องแมคบุ๊กที่ชอบปิดฝาเครื่องแทนการชัตดาวน์ ตรงนี้เป็นจุดเด่นที่ทำให้เราอยากพกเครื่องนี้ออกไปพิมพ์งานนอกสถานที่ได้อย่างสบายใจไร้กังวลเรื่องแบตจะหมดหาที่เสียบปลั๊กไม่ได้

นอกจากนี้ ความบางและเบาของตัวเครื่องก็ทำได้อย่างน่าประทับใจ และที่อดชมไม่ได้ ก็คือเรื่องของระบบเสียงซึ่งทางคอลัมน์แกดเจ็ตได้เทสต์ไปแล้ว 2 รุ่นพบว่าระบบเสียงที่ใส่มาในอัลตราบุ๊กนั้นให้เสียงที่ใสและกังวานฟังชัด มีอะคูสติกของเสียงที่ดี เราสามารถฟังเพลงเพลินๆ ได้อย่างระรื่นหู แต่หากคุณต้องการฟังเสียงเบสที่หนักแน่น อัลตราบุ๊กยังตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้แต่ภาพรวมแล้วหลายคนน่าจะประทับใจในการฟังเพลงผ่านเครื่องอัลตราบุ๊กอย่างแน่นอน

สุดท้ายจุดอ่อนที่เราควรรู้ก่อนซื้อเครื่องอัลตราบุ๊กก็คือ บางรุ่นมีพอร์ตให้เพียงแค่ 2 พอร์ต เป็น พอร์ต ยูเอสบี 3.0 เสียบ 1 พอร์ต ดังนั้นจะต้องมีอุปกรณ์เสริมหากคุณต้องการเชื่อมต่อกับระบบเก่าๆ และสายแลน หรือวีจีเอพอร์ต แต่มาตรฐานทุกรุ่นจะมีพอร์ต HDMI มาให้ในตัว ไม่มีช่องใส่ดีวีดีรอมมาให้ จึงควรตรวจดูพอร์ตที่เราต้องการใช้งานเป็นประจำ

สุดท้ายเรื่องของการพิมพ์งานด้วยความที่แป้นทัชแพดมีขนาดใหญ่ เวลาพิมพ์งานจึงพบปัญหานิ้วโป้งพลาดไปโดน ทำให้การพิมพ์บนหน้าจอกระโดดไปมา จึงควรใช้ร่วมกับเมาส์และปิดการใช้งานทัชแพดระหว่างพิมพ์

นอกเหนือจากนี้ ถ้าให้เราเลือกระหว่างโน้ตบุ๊กทั่วไป กับเน็ตบุ๊กที่พกพาสะดวก ผมขอเลือกอัลตราบุ๊กไว้ใช้งานสักเครื่องจะดีกว่า ส่วนแท็บเล็ตหรือไอแพดนั้น ตอบโจทย์ของไลฟ์สไตล์มากกว่าการทำงาน แต่นำไปใช้งานแทนเน็ตบุ๊กได้ แต่ยังไม่สามารถเทียบได้กับอัลตราบุ๊กในการทำงานระดับสูงที่ต้องใช้แป้นพิมพ์และพลังประมวลผลที่สูงกว่า

แหล่งที่มา   เว็บไซต์โพสทูเดย์ 29 มีนาคม 2555 เวลา 14:05 น. โดย...โยโมทาโร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น